MENU
MENU
หน้าหลัก
๙ สถานที่สำคัญ
๖ โซนของวัด
การเยี่ยมชม
หนังสือนำเที่ยว: The Vessel of Light
ตารางเวลาและระเบียบปฏิบัติ
เกี่ยวกับวัด
ประวัติและกิจกรรมประจำปี
ภาพพิธีกรรม
งานสมโภชน์มกุฏพันธนเจดีย์
งานทอดกฐินประจำปี
23 ตุลาคม 2564
21 ตุลาคม 2565
23 ตุลาคม 2567
งานอายุวัฒนมงคล 79 ปี
งานพิธีพระราชทานพัดยศ
พิธีวันสงกรานต์ 2565
จิตอาสาพระราชทาน
พิธีหล่อพระกริ่งพรหมวัชรินทร์
งานฉลองอายุศม์ธรรม ครบ 80 ปี
พิธีอุปสมบทหมู่ถวายเป็นพระกุศล
พิธีมอบรางวัลโครงการประกวดเรียงความประจำปี 2566
ธรรมยาตรา
ปฏิทิน 2023
คลังธรรมะ
เสียงเทศนาพระพรหมวชิรากร
บทสวดมนต์
บทความธรรมะ
พุทธสาวก
ปัญหาของผู้สงบ
วิดีโอธรรมะ
คลังธรรมสมเด็จพระมหาวีรวงศ์
หนังสือธรรมะพระพรหมวชิรากร
ร่วมทำบุญ
ไทย
English
ไทย
พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ฯ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อแรกประสูติทรงพระนามในสูติบัตรว่า “May” (เมย์) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า “หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา” ทรงมีพระอนุชาเป็น พระมหากษัตริย์ถึง ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า กัลยาณิวัฒนา” และในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ทรงเฉลิมพระเกียรติ เป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา”
และเมื่อ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการดํารัสสั่งให้สถาปนา พระอิสริยศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในเป็นพระองค์แรกในรัชกาลปัจจุบัน มีพระนามจารึกตามพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ดังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเกียรติคุณไว้บางตอนว่า “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีอันสนิทแค่พระองค์เดียว ที่ได้ร่วมสุขร่วมทุกข์กันมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งเป็นผู้ที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณมาแต่หนหลัง ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ก็ยังใฝ่พระหฤทัยมั่นคงอยู่มิได้ทอดทิ้งในอุปการกิจที่มีแก่พระองค์ โดยเจตจํานงมุ่งหมายแต่จะให้ทรงพระเกษมสุข และทรงพระเจริญยิ่งด้วยพระราชอิสริยยศในมไหศูรยสมบัติ ทั้งได้ปฏิบัติวัฏฐากสมเด็จพระบรมราชชนนีอย่างใกล้ชิดในที่ทุกสถาน และรักษาพยาบาลในเมื่อทรงพระประชวรโดยมิได้มีความเบื่อหน่ายย่อหย่อน ด้วยมีพระประสงค์จะแบ่งเบาพระราชภาระ ทําให้ทรงคลายพระราชกังวล และวางพระราชหฤทัยในการส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนีได้เป็นอันมาก มาบัดนี้
สมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญด้วยวัสสายุกาลวัยวุฒิกอปรด้วยพระอัธยาศัยซื่อตรง ดํารงพระองค์มั่น อยู่ในสุจริตธรรมสัมมาจารี มีความกตัญญูกตเวทีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งทรงพระคุณแก่บ้านเมืองปรากฏอยู่เป็นอเนกปริยาย สมควรที่จะสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น โดยอนุโลมตามแบบ อย่างโบราณราชประเพณี”
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ที่อนุบาลปาร์คสคูล (Park School) พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๑ ที่บอสตัน อเมริกา และทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่ โรงเรียนราชินี จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ทรงศึกษาต่อระดับเตรียมมัธยมที่โรงเรียนเมียร์มองต์ (Mirement) และทรงสอบเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมสตรี ประจําเมืองโลซาน ใน พ.ศ. ๒๔๗๘
ต่อมาได้ทรงย้ายไปเป็นนักเรียนประจําที่โรงเรียนนานาชาติเจนีวา ซึ่งเป็นโรงเรียนแบบสหศึกษาในปี พ.ศ. ๒๕๘๑ ทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดของระดับ มัธยมศึกษาได้เป็นที่ ๑ ของโรงเรียน และเป็นที่ ๓ ของ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ทรงศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะ วิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยโลซาน และได้เข้าศึกษาในหลักสูตรสังคมศาสตร์ ครุศาสตร์ ไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้แล้วยังทรงศึกษาศิลปศาสตร์ทางตะวันตกอีกหลายแขนง โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิก
ทรงเป็น “สมเด็จป้า” ในพระราชนัดดา ๔ พระองค์ ทรง ใกล้ชิดและห่วงใยในพระราชนัดดาทั้ง ๔ พระองค์เสมอมา คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงสมรสกับพันเอก อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ และมีพระธิดาคือ ท่านผู้หญิง ทัศนาวลัย ทรงเลี้ยงดูด้วยพระองค์เอง และยังทรงเป็น “สมเด็จยาย” ของพระนัดดา คือ
ร้อยเอก จิทัศ ศรสงคราม บุตรของท่านผู้หญิงทัศนาวลัย
และคุณสินธู ศรสงคราม
ด้วยพระปณิธานอันมุ่งมั่นเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ ที่ว่า “ในครอบครัวเรา ความรับผิดชอบเป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนกันอันแรกคือ เราจะทําอะไรให้เมืองไทย” ตลอดระยะเวลา ๘๔ ปีที่ผ่านมา จึงทรงมีพระกรณียกิจที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่วนรวมมากมาย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นต้นมา ทรงเริ่มต้นด้วยการเป็นอาจารย์สอนนิสิตนักศึกษาที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ทรงตามเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไปเยี่ยมเยียนราษฎร และนําแพทย์อาสาไปให้การรักษาผู้เจ็บป่วยตามท้องถิ่นทุรกันดารอยู่เสมอ เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงสืบสานพระปณิธานโดยทรงก่อตั้งและทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรต่างๆ รวม ๖๓ มูลนิธิ เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนชาวไทยสืบไป
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ ได้ทรงนิพนธ์และรวบรวมเรียบเรียงหนังสือที่มีข้อมูลอันทรงคุณค่าไว้มากมาย สามารถนํามาใช้อ้างอิง และประกอบการศึกษาค้นคว้าเชิงศาสตร์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี พระนิพนธ์ หลายเล่มเป็นแบบอย่างที่ดีในการประพันธ์ เพราะทรงใช้ถ้อยคําเรียบง่าย กระจ่างชัดรัดกุม พระนิพนธ์แบ่งเป็น ๔ ประเภทคือ พระนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชวงศ์ ๑๑ เรื่อง พระนิพนธ์แปล ๓ เรื่อง พระนิพนธ์สารคดีท่องเที่ยว ๑๐ เรื่อง และพระนิพนธ์ทางวิชาการ ๑ เรื่อง
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระราชศรัทธาในการพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในหลายวาระ เช่น เสด็จไปทรงห่มผ้าทิพย์พระเจดีย์พระบรมธาตุแช่แห้ง อําเภอเมือง จังหวัดน่าน นอกจาก นี้แล้วยังทรงมีพระเมตตาต่อคณะกรรมการโครงการจัดสร้าง เจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่ทรงครอง สิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ณ วัดป่าสิรวัฒน วิสุทธิ์ อําเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ โดยทรงรับเป็นองค์ประธานการจัด สร้างเจดีย์ศรีพุทธคยาเฉลิมพระเกียรติฯ
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงมีพระเมตตารับวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ไว้เป็นวัดในพระองค์ด้วย เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ การนี้ได้ยังความปลาบปลื้มมาสู่คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนในจังหวัดนครสวรรค์ทุกคนที่วัดในพื้นที่ได้รับพระเมตตาอย่างสูงจาก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในครั้งนี้ เจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ สามารถสร้างได้เสร็จสมดังปณิธานที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงตั้งใจสร้างเจดีย์ถวายให้พระอนุชาอันเป็นที่รัก โดยเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ ได้ประกอบพิธีสมโภชในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๐ ตรงกับ เดือนมหามงคลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในงาน สมโภชเจดีย์ศรีพุทธคยา พระองค์ยังทรงพระเมตตาส่งผู้แทนพระองค์คือ นางสุมนา อภินรเศรษฐ์ รองประธานโครงการจัด สร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ ให้มาเป็นประธานใน พิธีสมโภชเจดีย์ และเปิดพระตําหนักราชนครินทร์ ซึ่งใช้เป็นหอสมุดและที่พักด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประชวรที่พระนาภี และได้เสด็จไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ เมื่อคณะแพทย์ได้ถวายการตรวจพระวรกายและเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ พบว่า ทรงประชวรด้วยโรคมะเร็ง ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๐๒.๕๕ น. วันพุธที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ รวมพระชันษา ๘๔ ปี อนึ่งหลังการสิ้นพระชนม์ ได้มีการสถาปนาพระเกียรติ ยศเพิ่มเติมตามประกาศดังนี้ ฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงอนุสรณ์ถึง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ในวันที่ 5 มกราคม พุทธ ศักราช ๒๕๕๑ เป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีพระอุปการคุณแต่หนหลัง อีกทั้งทรงพระคุณแก่บ้านเมือง เป็นอเนกปริยาย เป็นที่ประจักษ์แก่ตาแก่ ใจของมหาชนทั่วไป เมื่อสิ้นพระชนม์ เป็นเหตุให้พระองค์ และประชาชนอาลัยระลึกถึงพระคุณเป็นอันมาก ทรงพระดําริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์นั้น ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่ เชิดชูแห่งพระราชวงศ์ ควรได้รับพระเกียรติใหญ่ยิ่ง โดยอนุโลม ตามโบราณราชประเพณี จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดเศวตฉัตร ๗ ชั้น กางกั้นพระโกศ พระราชทานเฉลิมพระเกียรติให้ปรากฏสืบไป ประกาศ ณ วันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
Copyrighted Siri Wattana Wisut Forest Monastery of Her Royal Highness
|
Theme
Quail