สถานที่ โดดเด่น ๙ แห่ง

เจดีย์ศรีพุทธคยา

เจดีย์นี้จำลองจากพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในประเทศอินเดีย ชั้น ๑ ของเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธเมตตาสันติภาพ องค์จำลอง ชั้น ๒ ประดิษฐาน พระศรีอารยเมตไตรย และระเบียงชมวิวธรรมชาติ ๓๖o องศา ชั้น ๓ ประดิษฐานพระคันธกุฏี (ที่ประทับของพระพุทธเจ้า) เจดีย์พุทธคยาสร้างขึ้นเพื่อรองรับวันวิสาขบูชาโลก และเพื่อเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๙ ในโอกาสพัชราภิเษก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ลวดลายเจดีย์ภายนอกสะท้อนวิจิตรศิลปกรรมไทย-อินเดียอันงดงาม

พระพุทธวัชรชัยบพิตร

ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาโพธิสัตว์ พระพุทธวัชรชัยบพิตร เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย สูง ๑๖ เมตร พระนามพระพุทธวัชรชัยบพิตรหมายถึงพระผู้ได้รับชัยชนะด้วยความมุ่งมันและพระทัยที่แข็งแกร่งดั่งเพชร พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙

อุโบสถเรือนแก้ว และมกุฏพันธนเจดีย์

อุโบสถเป็นมณฑปเรือนแก้ว ตามแบบสถาปัตยกรรมประยุกต์ไทย-อินเดีย พร้อมทั้งเป็นมกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระสรีระพระพุทธเจ้า ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธบาททั้งคู่ พร้อมด้วยพระประธาน พระพุทธรัชมงคลอุบลบพิตร น้อมถวายโดยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา อุโบสถเรือนแก้วแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรม สื่อถึงความสำคัญของการดำรงไว้ซึ่งความโปร่งใส และจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ในการบำเพ็ญคุณประโยชน์ บนหลังคาอุโบสถอันเป็นส่วนมกุฏพันธนเจดีย์ บรรจุดินจากสถานที่ปรินิพพานและถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย และดินจากทุกจังหวัดของประเทศไทย

เจดีย์ศรีมหาราช

เจดีย์นี้สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสกาญจนาภิเษกในรัชสมัยรัชกาลที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๓๙) เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน และเฉลิมพระเกียรติมหาราชทุกพระองค์ องค์เจดีย์สูง ๔๕ เมตร มีทั้งหมด ๗ ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐานพระบรมรูปบูรพกษัตริย์สำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์ไทย จึงเป็นสถานที่เหมาะแก่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และพระปรีชาชาญของบูรพกษัตริย์ไทย

ธัมเมกขสถูป

ธัมเมกขสถูปนี้สูง ๑๕ เมตร เป็นสัญลักษณ์การแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จำลองมาจากสถานที่ปฐมเทศนาในเมืองสารนาถ ประเทศอินเดีย อันเป็นที่มาของวันอาสาฬหบูชา ภายในธัมเมกขสถูปจำลองประดิษฐานเจดีย์หินอ่อน ๕ องค์ ซึ่งถอดแบบมาจากวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

วิหารเทพสถิต (วิหาร ส.ว.)

วิหารนี้ประดิษฐานเทพนพเคราะห์ ๙ พระองค์ พร้อมพระพุทธเอกนพรัตน์เป็นประธาน ใบหน้าของเทพทั้ง ๙ พระองค์ได้จำลองจากเค้าหน้าของผู้คนในปัจจุบันอย่างวิจิตรงดงาม

สถานที่ประสูติ

เป็นสถานที่จำลองการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ สวนลุมพินีวัน ประเทศเนปาล ประดิษฐานองค์พระพุทธกุมาร พร้อมเครื่องหมายโพธิญาณบนพระเศียรอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงดอกบัวทอง ๗ ดอก อันเป็นบุพนิมิตสำคัญ

พระภควัมบดี

พระไม่มีหน้าองค์นี้มีความสูง ๑๐ เมตร สื่อถึงการทำดีไม่เอาหน้า และการสำรวม พิจารณาสัมผัสทั้งห้าด้วยสติสัมปชัญญะ เพื่อไม่หลงในสัมผัสต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การเพิ่มพูนแห่งกิเลส สาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง

สถานที่ปรินิพพาน

จำลองสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ในกุสินารา ภายในอาคารประดิษฐานพระพุทธเจ้าปางปรินิพพาน แกะจากหินหยกขาวด้วยความประณีต พร้อมทั้งประดิษฐานปฏิมากรรมบูรพาจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือของพระพรหมวชิรากร (ประธานอำนวยการสร้างวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ ฯ)