พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ฯ

         สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อแรกประสูติทรงพระนามในสูติบัตรว่า “May” (เมย์) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า “หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา” ทรงมีพระอนุชาเป็น พระมหากษัตริย์ถึง ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า กัลยาณิวัฒนา” และในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ทรงเฉลิมพระเกียรติ เป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา”
         และเมื่อ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการดํารัสสั่งให้สถาปนา พระอิสริยศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในเป็นพระองค์แรกในรัชกาลปัจจุบัน มีพระนามจารึกตามพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ดังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเกียรติคุณไว้บางตอนว่า “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีอันสนิทแค่พระองค์เดียว ที่ได้ร่วมสุขร่วมทุกข์กันมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งเป็นผู้ที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณมาแต่หนหลัง ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ก็ยังใฝ่พระหฤทัยมั่นคงอยู่มิได้ทอดทิ้งในอุปการกิจที่มีแก่พระองค์ โดยเจตจํานงมุ่งหมายแต่จะให้ทรงพระเกษมสุข และทรงพระเจริญยิ่งด้วยพระราชอิสริยยศในมไหศูรยสมบัติ ทั้งได้ปฏิบัติวัฏฐากสมเด็จพระบรมราชชนนีอย่างใกล้ชิดในที่ทุกสถาน และรักษาพยาบาลในเมื่อทรงพระประชวรโดยมิได้มีความเบื่อหน่ายย่อหย่อน ด้วยมีพระประสงค์จะแบ่งเบาพระราชภาระ ทําให้ทรงคลายพระราชกังวล และวางพระราชหฤทัยในการส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนีได้เป็นอันมาก มาบัดนี้
         สมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญด้วยวัสสายุกาลวัยวุฒิกอปรด้วยพระอัธยาศัยซื่อตรง ดํารงพระองค์มั่น อยู่ในสุจริตธรรมสัมมาจารี มีความกตัญญูกตเวทีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งทรงพระคุณแก่บ้านเมืองปรากฏอยู่เป็นอเนกปริยาย สมควรที่จะสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น โดยอนุโลมตามแบบ อย่างโบราณราชประเพณี”
         สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ที่อนุบาลปาร์คสคูล (Park School) พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๑ ที่บอสตัน อเมริกา และทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่ โรงเรียนราชินี จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ทรงศึกษาต่อระดับเตรียมมัธยมที่โรงเรียนเมียร์มองต์ (Mirement) และทรงสอบเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมสตรี ประจําเมืองโลซาน ใน พ.ศ. ๒๔๗๘
         ต่อมาได้ทรงย้ายไปเป็นนักเรียนประจําที่โรงเรียนนานาชาติเจนีวา ซึ่งเป็นโรงเรียนแบบสหศึกษาในปี พ.ศ. ๒๕๘๑ ทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดของระดับ มัธยมศึกษาได้เป็นที่ ๑ ของโรงเรียน และเป็นที่ ๓ ของ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
         ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ทรงศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะ วิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยโลซาน และได้เข้าศึกษาในหลักสูตรสังคมศาสตร์ ครุศาสตร์ ไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้แล้วยังทรงศึกษาศิลปศาสตร์ทางตะวันตกอีกหลายแขนง โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิก
         ทรงเป็น “สมเด็จป้า” ในพระราชนัดดา ๔ พระองค์ ทรง ใกล้ชิดและห่วงใยในพระราชนัดดาทั้ง ๔ พระองค์เสมอมา คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงสมรสกับพันเอก อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ และมีพระธิดาคือ ท่านผู้หญิง ทัศนาวลัย ทรงเลี้ยงดูด้วยพระองค์เอง และยังทรงเป็น “สมเด็จยาย” ของพระนัดดา คือ
ร้อยเอก จิทัศ ศรสงคราม บุตรของท่านผู้หญิงทัศนาวลัย
และคุณสินธู ศรสงคราม
         ด้วยพระปณิธานอันมุ่งมั่นเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ ที่ว่า “ในครอบครัวเรา ความรับผิดชอบเป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนกันอันแรกคือ เราจะทําอะไรให้เมืองไทย” ตลอดระยะเวลา ๘๔ ปีที่ผ่านมา จึงทรงมีพระกรณียกิจที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่วนรวมมากมาย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นต้นมา ทรงเริ่มต้นด้วยการเป็นอาจารย์สอนนิสิตนักศึกษาที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ทรงตามเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไปเยี่ยมเยียนราษฎร และนําแพทย์อาสาไปให้การรักษาผู้เจ็บป่วยตามท้องถิ่นทุรกันดารอยู่เสมอ เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงสืบสานพระปณิธานโดยทรงก่อตั้งและทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรต่างๆ รวม ๖๓ มูลนิธิ เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนชาวไทยสืบไป
         สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ ได้ทรงนิพนธ์และรวบรวมเรียบเรียงหนังสือที่มีข้อมูลอันทรงคุณค่าไว้มากมาย สามารถนํามาใช้อ้างอิง และประกอบการศึกษาค้นคว้าเชิงศาสตร์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี พระนิพนธ์ หลายเล่มเป็นแบบอย่างที่ดีในการประพันธ์ เพราะทรงใช้ถ้อยคําเรียบง่าย กระจ่างชัดรัดกุม พระนิพนธ์แบ่งเป็น ๔ ประเภทคือ พระนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชวงศ์ ๑๑ เรื่อง พระนิพนธ์แปล ๓ เรื่อง พระนิพนธ์สารคดีท่องเที่ยว ๑๐ เรื่อง และพระนิพนธ์ทางวิชาการ ๑ เรื่อง
         สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระราชศรัทธาในการพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในหลายวาระ เช่น เสด็จไปทรงห่มผ้าทิพย์พระเจดีย์พระบรมธาตุแช่แห้ง อําเภอเมือง จังหวัดน่าน นอกจาก นี้แล้วยังทรงมีพระเมตตาต่อคณะกรรมการโครงการจัดสร้าง เจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่ทรงครอง สิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ณ วัดป่าสิรวัฒน วิสุทธิ์ อําเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ โดยทรงรับเป็นองค์ประธานการจัด สร้างเจดีย์ศรีพุทธคยาเฉลิมพระเกียรติฯ
         ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงมีพระเมตตารับวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ไว้เป็นวัดในพระองค์ด้วย เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ การนี้ได้ยังความปลาบปลื้มมาสู่คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนในจังหวัดนครสวรรค์ทุกคนที่วัดในพื้นที่ได้รับพระเมตตาอย่างสูงจาก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในครั้งนี้ เจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ สามารถสร้างได้เสร็จสมดังปณิธานที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงตั้งใจสร้างเจดีย์ถวายให้พระอนุชาอันเป็นที่รัก โดยเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ ได้ประกอบพิธีสมโภชในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๐ ตรงกับ เดือนมหามงคลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในงาน สมโภชเจดีย์ศรีพุทธคยา พระองค์ยังทรงพระเมตตาส่งผู้แทนพระองค์คือ นางสุมนา อภินรเศรษฐ์ รองประธานโครงการจัด สร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ ให้มาเป็นประธานใน พิธีสมโภชเจดีย์ และเปิดพระตําหนักราชนครินทร์ ซึ่งใช้เป็นหอสมุดและที่พักด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประชวรที่พระนาภี และได้เสด็จไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ เมื่อคณะแพทย์ได้ถวายการตรวจพระวรกายและเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ พบว่า ทรงประชวรด้วยโรคมะเร็ง ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๐๒.๕๕ น. วันพุธที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ รวมพระชันษา ๘๔ ปี อนึ่งหลังการสิ้นพระชนม์ ได้มีการสถาปนาพระเกียรติ ยศเพิ่มเติมตามประกาศดังนี้ ฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงอนุสรณ์ถึง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ในวันที่ 5 มกราคม พุทธ ศักราช ๒๕๕๑ เป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีพระอุปการคุณแต่หนหลัง อีกทั้งทรงพระคุณแก่บ้านเมือง เป็นอเนกปริยาย เป็นที่ประจักษ์แก่ตาแก่ ใจของมหาชนทั่วไป เมื่อสิ้นพระชนม์ เป็นเหตุให้พระองค์ และประชาชนอาลัยระลึกถึงพระคุณเป็นอันมาก ทรงพระดําริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์นั้น ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่ เชิดชูแห่งพระราชวงศ์ ควรได้รับพระเกียรติใหญ่ยิ่ง โดยอนุโลม ตามโบราณราชประเพณี จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดเศวตฉัตร ๗ ชั้น กางกั้นพระโกศ พระราชทานเฉลิมพระเกียรติให้ปรากฏสืบไป ประกาศ ณ วันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน