พระพรหมวชิรากร (สุนทร สุนฺทราโภ)

         พระพรหมวชิรากร ฉายา สุนฺทราโภ มีนามเดิมว่า สุนทร จิ้วไม้แดง เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม ในสมัยรัชกาลที่ ๘ บิดาชื่อ นายแคล้ว จิ้วไม้แดง มารดาชื่อ นางพิณ ท่านเกิดที่บ้านปากน้ำ เลขที่ ๔๐/๑ หมู่ที่ ๓ ตําบลปากน้ำ อําเภอเมือง จังหวัดชุมพร ปัจจุบันดํารงตําแหน่ง เจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม วรวิหาร, กรรมการมหาเถรสมาคม, ประธานอำนวยการสร้างวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ ฯ และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๖ และภาค ๑๗-๑๘ (ธรรมยุต)
         ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดราชผาติการาม วรวิหาร ในวันศุกร์ที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา โดยมีพระธรรมปาโมกข์ (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วิน ธมฺมสารมหาเถร ป.ธ. ๙) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้เข้าพิธีอุปสมบทในวันอาทิตย์ที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง อายุ ๒๑ ปี โดยมีพระธรรมปาโมกข์ อดีตเจ้าอาวาส วัดราชผาติการาม วรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์ คือ พระโสภณธรรมาภรณ์ (พระธรรมปัญญาจารย์ สุพจน์ ปภสฺสโร) พระอนุสาวนาจารย์ คือ พระครูอาทรคณานุยุต (คง อมโร)
         พระพรหมวชิรากรศึกษาสําเร็จชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านปากน้ำเผดิมนาวาสงเคราะห์ ตําบลปากน้ำ อําเภอเมือง จังหวัดชุมพร ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ต่อมาก็สอบไล่ได้นักธรรมชั้น เอก สํานักเรียนวัดราชาธิวาสวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ และในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ก็สอบไล่ ได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค จากสํานักเรียนวัดราชาธิวาสเช่นกัน
         ตั้งแต่อุปสมบทมา ดูเหมือนสมเด็จ พระอุปัชฌาย์จะมองเห็นความรุ่งเรืองในอนาคตที่จะเป็นทายาทประจําวัดราชผาติการาม วรวิหาร พระคุณท่านจึงให้นามฉายาทางพระศาสนาว่า สุนฺทราโภ แปลว่า ผู้รุ่งเรืองอย่างงดงาม สอดคล้องกับสายพระเนตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีพระมหากรุณาโปรดให้พัฒนาวัดราชผาติการาม เพื่อเป็นศูนย์ประกาศเรื่องพระมหาชนกชาดก เชิดชูความเพียรตลอดไป ตามหลักพุทธธรรมที่ว่า ความเพียรในอิทธิบาทเป็นรัตนชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอานุภาพพัฒนาโลกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมทางการเกษตร และแพทยศาสตร์ ในปัจจุบัน ล้วนสําเร็จมาจากอิทธิพลของความเพียรในอิทธิบาททั้งสิ้น
         พระพรหมวชิรากร มีอัธยาศัยทางความเพียรสูง ปรากฏตั้งแต่ประเพณี ไปไหว้พระสวดมนต์ที่องค์พระปฐมเจดีย์ ประจําปี แม้ทางวัดจะจัดรถบริการทั้งไป และกลับทุกปี แต่พระคุณเจ้ารูปนี้สมัครเดินไปมาด้วยเท้าตามทางรถไฟ ลองคิดดูเถิดไป ๕๐ กิโลเมตร กลับ ๕๐ กิโลเมตร โดยมิได้พักค้างแรมระหว่างทาง ย่อมหมายถึงพลังกายและพลังจิตสูงส่ง พร้อมทั้งเคยได้ธุดงค์ไปในภูเขากลางป่า โดยเดินเท้าจากชุมพรไปนครศรีธรรมราช
         พระคุณท่านสนใจพุทธธรรมทั้งภาคปริยัติ - ปฏิบัติ - ปฏิเวธพร้อมกันไป รวมถึงการให้ความรู้การศึกษา ท่านได้สนับสนุนส่งเสริมการศึกษาหลายแห่ง โดยการเป็นอาจารย์พิเศษ วิทยากรบรรยายธรรมะ อาจารย์กรรมฐาน ให้แก่พระธรรมทูต พระนักเทศน์ พระสังฆาธิการ ข้าราชการ นายทหาร นักศึกษา ผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสถานที่ศึกษาต่าง ๆ ท่านได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต จาก มหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ และจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ อีกทั้งยังได้ร่วมเผยแผ่ฟื้นฟูพุทธศาสนาในต่างประเทศ
         เมื่อวันวิสาขบูชาที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ พระพรหมวชิรากรได้ร่วมฟื้นฟูมหาอุโบสถของเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในสมัยพุทธกาล ซึ่งถูกทอดทิ้งมานานกว่า ๘oo กว่าปี ท่านได้ร่วม สวดถอน ทักนิมิต และผูกพัทธสีมา เวฬุวันมหาวิหาร แห่งนครราชคฤห์ ประเทศอินเดีย พร้อมพระสงฆ์ ๔๖ รูป ทำให้เวฬุวัน ได้กลับมาเป็นเขตพุทธาวาสที่จะใช้กระทำสังฆกรรมอย่างถูกต้องอีกครั้ง นับตั้งแต่พุทธศาสนาสูญสลายไปจากอินเดียเมื่อพุทธศตวรรษ ๑๗ อีกทั้งท่านยังได้ช่วยเหลือกิจการจัดสร้างวัดเนรัญชราวาส พุทธคยา รัฐพิหาร ในประเทศอินเดีย
         ด้วยสำนึกในความสำคัญของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ พระพรหมวชิรากรได้เป็นประธานพิธีปฏิบัติธรรมและสวดมหาสันติงหลวง ถวายพระพรในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาติดต่อกันมาหลายปี นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม อีกทั้งยังได้จัดโครงการอ่านพระไตรปิฏก ๘๔,ooo พระธรรมขันธ์ ฉบับภาษาไทยขึ้น จากวันที่ ๘ ถึง ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕o เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา นอกเหนือจากศาสนกิจ พระพรหมวชิรากร มักช่วยงานสาธารณสงเคราะห์และพัฒนาชุมชนอยู่เป็นนิจ ท่านได้มอบทุนการศึกษาให้กับพระภิกษุ สามเณร และนักเรียนวัดราชผาติการาม อีกทั้งได้ช่วยการเพทย์ โดยการบริจาคเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ในจังหวัดนครสวรรค์ และบริจาครถพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ในจังหวัดน่าน รวมทั้งยังได้จัดทำโครงการขุดคลองเก็บน้ำยาว ๕ กิโลเมตร รอบภูเขาวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ ฯ ร่วมกับกรมธนารักษ์ และกรมชลประทาน เพื่อให้ประชากร ๑ พันคนเศษ ได้มีน้ำบริโภค ในการทำเกษตรกรรม และยังช่วยป้องกันน้ำท่วมอีกด้วย

ประมวลงานปกครองคณะสงฆ์ (โดยสังเขป)

● พ.ศ. ๒๕๖๒ – ปัจจุบัน
    กรรมการมหาเถรสมาคม
● พ.ศ. ๒๕๖๔ – ปัจจุบัน
   ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๖ และ ๑๗-๑๘ (ธรรมยุต)
● พ.ศ. ๒๕๕๗ – ปัจจุบัน
    เจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม วรวิหาร
● พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๒๕๕๗
    ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม วรวิหาร
● พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๖๑
    เจ้าคณะเขตดุสิต (ธรรมยุต)
● พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๓๖
    เลขานุการเจ้าคณะเขตดุสิต (ธรรมยุต) พ.ศ. ๒๕๔๒ พระอุปัชฌาย์วิสามัญ

ประมวลงานเผยแผ่ศาสนาต่างประเทศ (โดยสังเขป)

● พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๕
    ประธานฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
    ภาคนวกรรม และศึกษาดูงานในประเทศอินเดีย-เนปาล
● พ.ศ. ๒๕๖๑
   รองประธาน งานสวดถอน-ทักนิมิต-สวดสมมติสีมา
   เวฬุวันมหาวิหาร ประเทศอินเดีย

ประมวลงานก่อสร้าง
วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ (โดยสังเขป)

● พ.ศ. ๒๕๒๗
    เริ่มก่อสร้างที่พักสงฆ์ ชื่อ เสนาสนะป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ (ก่อนพัฒนามาเป็น วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ)
● พ.ศ. ๒๕๓o
    ก่อสร้างเรือราชญานนาวาฑีฆายุมงคล
● พ.ศ. ๒๕๓๙
    ก่อสร้างเจดีย์ศรีมหาราช
● พ.ศ. ๒๕๔๒
    ก่อสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา
● พ.ศ. ๒๕๕๓
    ก่อสร้างสถานที่ปรินิพพาน
● พ.ศ. ๒๕๕๙
    ก่อสร้างพระพุทธวัชรชัยบพิตร
● พ.ศ. ๒๕๖o
    ก่อสร้างสถานที่ประสูติ
● พ.ศ. ๒๕๖๑
    ก่อสร้างธัมเมกขสถูป
● พ.ศ. ๒๕๖๓
    ก่อสร้างมกุฏพันธนเจดีย์
● พ.ศ. ๒๕๖๔
    ได้ก่อสร้างเจดีย์พรหมปิตุมาตานุสรณ์
    ก่อสร้างสระฤทธิรุทร, สระมุจลินทร์, อินทร์พร, พรพระพรหม

สมณศักดิ์

● พ.ศ. ๒๕๑๘
    เป็นพระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ ฐานานุกรมใน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
     (วิน ธมฺมสารมหาเถร ป.ธ. ๙) วัดราชผาติการาม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร
● พ.ศ. ๒๕๒๕
    ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ “พระสิริวัฒนวิสุทธิ์ (วิ)”
● พ.ศ. ๒๕๓๕
    ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นราช ที่ “พระราชญาณปรีชา”
● พ.ศ. ๒๕๔๔
    ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นเทพ ที่ “พระเทพโมลี”
● พ.ศ. ๒๕๕๕
    ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ “พระธรรมปาโมกข์”
● พ.ศ. ๒๕๖๔
    ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นพรหม ที่ “พระพรหมวชิรากร”