พุทธสาวก

พระธรรมเทศนาเรื่อง พุทธสาวก
พระสิริวัฒนวิสุทธิ์ (ปัจจุบันพระพรหมวชิรากร)
วัดราชผาติการาม วรวิหาร แสดง

เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของพระอาจารย์ชา สุภทโท (พระโพธิญาณเถร)
ครบ ๖ รอบ
ณ วัดอมราวดี กรุงลอนดอน
วันที่ ๑๗ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๓
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโกติฯ
        บัดนี้จะได้แสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องสาวกผู้รุ่งเรืองด้วยปัญญา เพื่อเป็นธรรมีกถาอบรมสติปัญญาแด่ท่านทั้งหลาย ที่มาประชุมกันโดยพร้อมเพรียงในวัดอมราวดีแห่งนี้ ทุกท่านมีจิตที่จะฟังธรรมเพื่อน้อมนำมาเป็นหลักปฏิบัติทางกายวาจาใจของตนๆได้ รับผลคือได้ความรู้ความเห็นที่ถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา
        ในวันนี้จะได้นำธรรมะ 2 ข้อ คือความเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยปัญญานี้เป็นข้อที่ 1 ข้อที่ 2 ผู้ชื่อว่าเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง 2 ประการนี้เป็นเครื่องประกาศความเคารพนับถือที่มีอยู่ในใจของเรา ว่าพระพุทธศาสนาคือพระพุทธเจ้านั้นอุบัติขึ้นในโลกอย่างไร พระพุทธเจ้าที่ได้อุบัติขึ้นมาสู่โลกนี้นั้น มีความมุ่งหมายก็เพื่อที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ยากของเราทั้งหลาย จึงได้ทรงแสดงหลักการวิธีการและปฏิบัติการให้เป็นแนวทางของผู้ปฎิบัติเพื่อให้ได้รับการพ้นจากความทุกข์ยาก ในประการแรก พระองค์ทรงปลดเปลื้องพระองค์เองให้พ้นจากความทุกข์ก่อน และก็ได้ทรงใช้วิธีการที่พระองค์ทรงค้นพบนั้นมาสั่งสอนพวกเราทั้งหลาย ด้วยความมุ่งหมายก็เพื่อจะให้ผู้ฟังนั้นเป็นผู้รู้เท่าเทียมกับพระองค์ด้วยความประสงค์ว่าให้รู้ว่านี้ความทุกข์ นี้เป็นเหตุที่จะให้เกิดความทุกข์ นี้เป็นทางที่จะให้ดับทุกข์ นี้เป็นข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับทุกข์นั้น สรุปเรียกว่าอริยสัจ 4 ประการ ผู้ใดรู้อริยสัจทั้ง 4 ประการนี้แล้ว เรียกผู้นั้นได้ว่าเป็นพุทธะ ผู้ที่รู้ก่อนผู้อื่นโดยที่ไม่มีใครมาสั่งสอนเรียกว่า สัมมาสัมพุทธะ ผู้ที่รู้ตามพระองค์เรียกว่าอนุพุทธะหรือสาวกพุทธะ ทั้งสาวกพุทธะและสัมมาสัมพุทธะนี้ก็อยู่ในฐานะของพุทโธ คือผู้รู้เช่นเดียวกัน เมื่อผู้รู้ทั้ง 2 ประการคือสัมมาสัมพุทธะและสาวกพุทธะเกิดขึ้น เรียกได้ว่าพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นแล้วในโลก เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในโลกแล้ว โลกของเราก็ได้รับความสว่างไสวจากคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้นั้นเหมือนกับดวงอาทิตย์ที่อุทัยหรืออุบัติขึ้น ย่อมกำจัดความมืดของโลกได้ฉันนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเหมือนกับดวงอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่โลก ผู้ที่อยู่ในโลกก็ได้รับประโยชน์จากแสงสว่างนั้นๆ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากแสงสว่างเรียกว่าสาวก หน้าที่ของสาวกนั้นมีอยู่อย่างเดียวคือฟังธรรมะคำสอนของท่านแล้วนำมาปฏิบัติ การศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วได้รับความรู้ความเข้าใจเรียกว่า ปริยัติ คือการศึกษา นำความรู้ที่ได้จากการศึกษานั้นมาปฏิบัติเรียกว่าปฏิบัติธรรม ผลได้รับจากการปฏิบัตินั้นเรียกว่าปฏิเวธ เพราะฉะนั้นการศึกษาพระพุทธศาสนาให้ได้ประโยชน์ ต้องนำมาพัฒนาตนเองให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงเราก็จะเป็นผู้นับเนื่องในพุทธะ เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากพุทธะเหมือนคนที่มีตาดี ย่อมรู้จักแสงสว่างฉันนั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้นามว่าสาวกของพระพุทธเจ้านั้น มีหน้าที่ๆจะต้องเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่ง คือสร้างปัญญาความรู้จริงให้เกิดขึ้นกับตนเอง ปัญญาที่จะเกิดขึ้นกับตนเองได้นั้น ต้องอาศัยสติเป็นพื้นฐาน สติแปลว่าความระลึกได้หรือรู้สึกตัว
        สตินั้นใช้ก่อนทำ ก่อนพูด ก่อนคิด ส่วนปัญญาใช้หลังจากทำพูดคิดแล้วว่าถูกหรือผิด สมควรหรือไม่สมควร สติต้องคู่กับสัมปชัญญะ คำว่าสัมปชัญญะกับปัญญามีเนื้อความเสมอกัน สติต้องใช้ก่อน ปัญญาใช้ทีหลัง สติก็มีอาการหลายอย่าง สติที่นำไปพิจารณาหรือนำไประลึกถึงพระพุทธเจ้า เรียกว่า พุทธานุสติ สติที่พิจารณาตัวเองเรียกว่ากายคตานุสติ เช่น พระพุทธเจ้าสอนกับผู้ที่เข้ามาบวชว่าให้พิจารณากายคตาสติหรือพิจารณาตัวเองนั้น เช่นให้พิจารณาว่าในตัวนี้มีอะไรบ้าง ในชั้นแรกก็ให้พิจารณาเพียงย่อๆก่อนด้วยให้รู้จักตัวเอง 5 อย่าง เรียกว่า กรรมฐาน 5 มี เกศา-ผม โลมา-ขน นขา-เล็บ ทันตา-ฟัน ตะโจ-หนัง เพราะมีหนังเป็นที่ 5 จึงเรียกว่า ตจปัญจกกรรมฐาน ผู้พิจารณากรรมฐานทั้ง 5 นี้แล้ว จะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่สวยไม่งาม เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ทั้ง 5 ประการนี้ ถ้าเราไม่ได้ชำระสะสาง ไม่ได้ปฏิบัติต่อมันก็จะเกิดปฏิกูลน่าเกลียด ผู้พิจารณาสิ่งทั้ง 5 ประการนี้จะเกิดประโยชน์แก่สติปัญญาอย่างไร เกิดประโยชน์ คือ ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่หลงในสิ่งที่จะชวนให้รัก ให้เกลียด ให้โกรธ ให้หลง เมื่อจิตของเราไม่มีอาการ คือ ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้วก็จะเกิดความรู้ขึ้นอย่างหนึ่งว่า ในสังขารร่างกายที่คนทั้งหลายหลงติดหลงชมอยู่นี้ ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่ารัก ผู้ที่พิจารณาเห็นอย่างนี้ เรียกว่า สาวกของพระพุทธเจ้านี้ก็เป็นอาการของสติอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง สติที่รักษาตัวรอดปลอดภัยจากสิ่งทั้งหลาย อาการอย่างนี้ เรียกว่า สติเนปักกะ คือสติรักษาตัว เมื่อบุคคลมาปฏิบัติหรือทำสติอย่างนี้ เรียกได้ว่า ผู้มีปัญญา และปัญญาที่จะให้สมบูรณ์หรือเกิดความแน่นแฟ้นดีนั้นจะต้องมีสติเป็นพื้นฐาน เมื่อมีสติเป็นพื้นฐานดีแล้ว ปัญญาความรู้ก็จะเกิดเจริญขึ้น ความรู้ที่เกิดขึ้นมานี้มีอยู่ 4 ลักษณะด้วยกัน
เกิดขึ้นมานี้มีอยู่ 4 ลักษณะด้วยกัน
                1.รู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เรียกว่า สาตถกสัมปชัญญะ
                2.รู้ว่าจิตใจของเราจะดำเนินไปได้หรือไม่ เรียกว่า โคจรสัมปชัญญะ
                3.จิตของเราหรือสติหรือตัวความรู้นั้นจะรู้ว่าสบายแก่จิตใจของเราหรือไม่ เรียกว่า สัปปายสัมปชัญญะ
        ประการที่ 4 เกิดความรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกหรือผิด เรียกว่า อโมหสัมปชัญญะ นี่คือปรากฏการณ์ของสติและปัญญา สติกับสัมปชัญญะนี่มีหน้าที่ต่างกัน สติเอาไว้รู้เท่า ปัญญาเอาไว้รู้ทัน เราเรียกรวมกันว่ารู้เท่าทันให้ละเอียดลงไปอีกนิดหนึ่ง รู้เท่านั้นเอาไว้ป้องกัน รู้ทันนั้นเอาไว้แก้ไขสถานการณ์ คนที่รู้เท่าทันนี้ควรจะได้นามว่าสาวกของพระพุทธเจ้า ธรรมะทั้ง 2 อย่าง คือ สติและปัญญานี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีอุปการะแก่ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก
        ทางพระพุทธศาสนาจึงเรียกสติกับปัญญานี้ว่า ธรรมมีอุปการะมาก วิธีจะฝึกสตินั้นก็ให้ทำจิตให้สงบ เอาไว้กันความชอบและความชังไม่ให้เกิดขึ้นกับจิตใจ ความชอบและความชังที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเรานั้น ก็เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราระมัดระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราไม่ให้เป็นทางเดินของความชอบและความชังก็ให้ระวังที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้เอง นี้เรียกว่าสติสังวร สติจึงทำหน้าที่ป้องกันกิเลสไม่ให้เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สติ เตสํ นิวารณํ สติความระลึกได้เป็นเครื่องกั้นเครื่องปิดกระแสตัณหา ตัณหา คือความทะยานอยากที่เกิดขึ้นกับเรานั้นก็อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้แหละเป็นทางเดินคนที่มีสติแล้วก็ป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นทางอายตนะคือตาหูเป็นต้นได้ นี้คือหน้าที่ของสติ ส่วนปัญญานั้นเอาไว้รู้ทัน รู้ทันนั้นเอาไว้แก้ไขสถานการณ์ เมื่อคนเรามีการรู้เท่ารู้ทันแล้วก็จะไม่มีอุปสรรคหรือปัญหาของชีวิต จึงเรียกได้ว่าชีวิตนี้ไม่มีปัญหา เพราะมีสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน วิธีที่จะให้ปัญญารุ่งเรืองนั้นก็มีอยู่ 4 ประการด้วยกัน เรียกว่า ต้องอาศัยหัวใจของบัณฑิต มีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน 1. ฟัง 2. คิด 3.ถาม 4. จดจำไว้ ย่อเป็นหัวใจว่า สุ.จิ.ปุ.ลิ. ฟังคิดถามเขียน ผู้ที่ประกอบด้วย 4 ประการนี้เรียกว่าเป็นบัณฑิต แปลว่า ผู้ดำเนินประโยชน์กิจด้วยปัญญา ผู้ที่มีปัญญาย่อมสามารถที่จะรู้ได้ว่าในใจของเรามีทุกข์อะไร และทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นอาศัยเหตุอะไรเป็นแดนเกิด ซึ่งทางพุทธศาสนา เรียกว่า เกิดเพราะตัณหา ความทะเยอทะยาน อยากในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นต้น และจะดับความอยากของสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจของเรานั้นได้อย่างไร ก็คือเกิดที่ไหนก็ให้ดับที่นั่น เกิดความต้องการทางตาก็ให้ดับที่ตา เกิดความต้องการทางลิ้นก็ให้ดับที่ลิ้น เกิดความต้องการทางกายก็ให้ดับที่กาย เกิดความต้องการทางใจก็ให้ดับที่ใจ คำว่า “ดับ” ก็คือ ให้นำความอยากออก คนเราถ้าไม่อยากก็ไม่เป็นทุกข์ อยากเมื่อไหร่ก็ทุกข์เมื่อนั้น อยากกลางวันก็ทุกข์กลางวัน อยากกลางคืนก็ทุกข์กลางคืน อยากตลอดเดือนก็ทุกข์ตลอดเดือน อยากตลอดปีก็ทุกข์ตลอดปี อยากตลอดชาติก็ทุกข์ตลอดชาติ ถ้าตายไปแล้วยังอยากอยู่ก็เกิดอีกๆก็ทุกข์อีก ฉะนั้นเมื่อเกิดความอยากขึ้นเมื่อไหร่ให้ดับความอยากเสียโดยเร็ว
        พระพุทธเจ้าเคยสอนหรือถามพระภิกษุว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าไฟไหม้อยู่บนศีรษะของพวกเธออยู่ เธอจะทำอย่างไร พระตอบว่าควรรีบดับไฟที่ศีรษะแต่พระพุทธเจ้ารับสั่งว่าไม่ถูก ต้องดับความอยากที่มีอยู่ในใจก่อนที่ไฟจะไหม้ตาย เพราะอะไร เพราะไฟไหม้บนศีรษะตายชาติเดียว ตายแล้วก็หมดเรื่อง แต่ความอยากที่อยู่ในใจนั้นตายไปแล้วจะต้องเกิดมาตายอีกหลายๆภพ เพราะฉะนั้นการดับความอยากนั้นได้เรียกว่า นิโรธ เมื่อดับความอยากเป็นนิโรธแล้วก็จะดำเนินไปทางของพระพุทธเจ้าและสาวกที่ได้เดินไปแล้วอย่างถูกต้องที่เรียกภาษาทางพระพุทธศาสนาว่า อริยมรรค มีเห็นชอบเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ดำริ คือ คิดชอบ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ การเจรจาหรือการพูดชอบ เรียกว่า สัมมาวาจา การงานที่ทำเป็นการงานชอบ เรียกว่า สัมมากัมมันตะ อาชีพที่ทำก็ชอบเรียกว่า สัมมาอาชีวะ ความพยายามก็เป็นความพยายามชอบ เรียกว่า สัมมาวายามะ การระลึกหรือสติก็ระลึกชอบ เรียกว่า สัมมาสติ จิตใจที่คิดก็ตั้งมั่นชอบ เรียกว่า สัมมาสมาธิ ทั้ง 8 ลักษณะนี้รวมอยู่ในคำๆเดียว คือ ชอบ ความชอบนี้อาจจะเรียกหรือเทียบเคียงกันได้กับคำว่าสมควร คนเราถ้าทำในสิ่งที่สมควรแล้ว ถือว่าเป็นการบรรลุเป้าหมายของชีวิตที่สมบูรณ์ คนที่บรรลุเป้าหมายแห่งชีวิตที่สมบูรณ์ได้ชื่อว่า พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ถ้าจะถามว่าพุทโธอยู่ที่ไหน พุทโธนั้นอยู่ที่ใจ ใจเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน พุทโธอยู่ที่ไหน ธัมโมก็อยู่ที่นั่น ธัมโมกับพุทโธจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา และผู้ใดเห็นเรา คือเห็นพระพุทธเจ้าผู้นั้นก็ต้องเห็นธรรม ผู้ที่เห็นพระพุทธเจ้าเห็นพระธรรมจึงได้นามว่าสาวกคือพระสงฆ์ ถ้าจะถามว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ที่ไหน พุทโธ นั้นอยู่ที่ใจ ธัมโมอยู่ที่วาจา การพูดการเจรจา สังโฆ อยู่ที่กาย กายวาจาใจนี้ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ใจนั้นเป็นผู้รู้เป็นผู้เบิกบานเป็นผู้ตื่น วาจานั้นเป็นพระธรรม คือเป็นวาจาที่ไม่พูดทุจริต คือไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ผู้ที่ประกอบด้วยลักษณะทั้ง 4 ประการนี้ เรียกว่า มีวาจาไม่เศร้าหมองขุ่นมัว นี้เรียกว่า มีวาจาเป็นพระธรรม ส่วนกายนั้นเป็นพระสงฆ์ คือ ไม่ทำกายทุจริต ได้แก่ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม กายวาจาใจนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นรัตนะ
        ในข้อนี้มีอุบาสิกาคนหนึ่งถามพระเถระสาวกในพระพุทธศาสนาว่า ที่ได้นาม ว่าสาวกนั้นมีลักษณะอย่างไร พระก็ตอบว่า กายกมฺมํ สุจิเตสํ พระสงฆ์ในศาสนานี้มีกายกรรมสะอาด วจีกมฺมํ อนาวิลํ วาจาไม่เศร้าหมองขุ่นมัว มโนกมฺมํ สุวิสุทฺธํ มโนกรรม สะอาดบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ผู้ที่ประกอบด้วยลักษณะทั้ง 3 ประการนี้ เรียกว่า สมณะในพระพุทธศาสนานี้ ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือ กายวาจาใจนี้จะมาเทียบกับศีล สมาธิ ปัญญาได้อย่างไร พระสงฆ์หรือกายนั้นเทียบกับศีล พระธรรม คือ วาจา เทียบกับสมาธิ ปัญญานั้นเทียบกับใจที่มีพุทธะ เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือ กายวาจาใจนี้เอง เพราะฉะนั้นธรรมะทุกประการ ธรรมะทุกหมวด ธรรมะทุกข้อ ก็มารวมอยู่ที่ตัวของเรานี้ซึ่งมีทั้งกายและใจ ผู้ใดมาทำกายวาจาใจให้เป็นพระพุทธให้เป็นพระธรรม ให้เป็นพระสงฆ์ ให้เป็นศีลสมาธิปัญญาได้ ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าพบพระพุทธศาสนาพบพระพุทธเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก คือ อุบัติขึ้นในใจของเรานี้ ใจที่มีพุทธะเป็นพื้นฐานแล้วเป็นเหตุให้อยากทำทานเป็นเหตุให้อยากรักษาศีล เป็นเหตุที่จะให้เจริญภาวนา ทาน ศีล ภาวนานี้ จึงเป็นพื้นฐานของการทำ คุณงามความดีทั้งปวง เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายที่อุบัติขึ้นมาอยู่ในโลกนี้ก็ควรที่จะให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ขึ้นในใจ ควรที่จะควบคุมกายวาจาใจของเราให้เป็นพุทธะ ก็จะมีศีล สมาธิ ปัญญาที่สมบูรณ์ เราก็จะได้ชื่อว่ารับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นขอให้ พระพุทธศาสนาจงประดิษฐานอยู่ในใจของท่านทั้งหลายตลอดไป ขอให้ท่านทั้งหลายได้รับประโยชน์ประสบสุขจากพระพุทธศาสนาโดยทั่วกัน
        ได้แสดงธรรมมาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอขอบใจท่านสุเมโธผู้เป็นเจ้าอาวาสแห่งวัดอมราวดีนี้ที่ท่านได้ให้เกียรติได้ให้โอกาสแก่อาตมภาพ ให้มาร่วมในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับท่านอาจารย์ชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร) ในวันคล้ายวันเกิดในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ 6 รอบ 72 ปี ด้วยอานิสงส์แห่งความดีของท่านทั้งหลายนี้ ขอให้ท่านอาจารย์ชา สุภทฺโท จงมีอายุ มั่นขวัญยืน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของเราทั้งหลาย และเป็นกำลังใจให้เราทั้งหลาย พบกับพุทธะโดยทั่วกัน ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ชาคโรผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และขอให้ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายที่ได้มาร่วมฟังธรรมในวันนี้ จงได้รับประโยชน์ประสบสุขโดยทั่วกันเทอญ