วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

ความเป็นมา
วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ เลขที่ ๙๙ หมู่ที่ ๒ ตั้งอยู่บนเขา ณ บ้านเขาโคกเผ่น ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์
เป็นพุทธสถานที่คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงค์ ( วิน ธมฺมสารเถร ป.ธ.๙ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชผาติการามกรุงเทพฯ
สร้างถวายแด่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงค์ ในโอกาสที่เจริญชนมายุศม์ ครบ ๘๐ ปี เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ได้รับอนุญาต
จาก กรมธนารักษ์ให้ใช้สถานที่ จำนวน ๙๖ ไร่ ๒ งาน ๕๘ ตารางวา สร้างวัดขึ้นเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา และได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีวาในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ชื่อ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ นี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงค์
( วิน ธมฺมสารเถร ) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชผาติการามวรวิหาร ได้ประทาน ชื่อวัดว่า วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ เพื่อถวายพระเกียรติ แด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
( ม.จ.ภุชงค์ ชมพูนุท ) วัดราชบพิธสถิตสีมาราม ส่วน สิริวัฒนวิสุทธิ์ ( วิ. ) เป็นพระราชทินนามที่พระราชทานชื่อสมณศักดิ์ แด่พระราชาคณะ ชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระ ( พัดขาว ) พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ ( สุนทร สุนฺทราโภ เปรียญ ๔ ประโยค ) ได้รับพระราชทาน เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ปัจจุบันเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระธรรมปาโมกข
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม กทม. เมื่อ วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ รับวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ เป็นวัดในพระองค์ฯ และทรงรับเป็นองค์ประธาน งานก่อสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในโอกาสที่ทรง ครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ใน วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
รูปลักษณ์สิ่งก่อสร้าง
วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ สร้างเป็นรูปเรือหลวง มีความหมาย ถึงพาหนะที่จะช่วยขนสัตว์โลกที่ยังตกอยู่ในห้วงแห่งสังสารวัฎ ( ทะเลวน ) ให้พ้นจากโอฆะสงสารห้วง
น้ำนั้นคือ กิเลส เรือที่ตั้งอยู่บนเกาะหรือภูเขาหมายถึงเป็นสถานที่ ที่น้ำไม่สามารถท่วมถึงได้หรือท่วมทับแก่บุคคลที่มีปัญญาได้ ผู้มีปัญญา มีความขยัน อดทน
ไม่ประมาทตามกิเลส มีความสำรวมระวังดี ก็จะอยู่บนเรือลำนี้ได้โดยปลอดภัยเรือหลวงอันเป็นที่ตั้งของวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์
มีชื่อเรือว่า ราชญาณนาวาฑีฆายุมงคล สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
ครบ ๕ รอบ ๖๐ พรรษา เรือหลวงลำนี้มีความกว้าง ๓๐ เมตร ยาวโดยประมาณ ๖ ไร่เศษ สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ สร้างขึ้นล้วนแต่เป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงสถาบันแห่งชาติทั้งสิ้น
พระพุทธเอกนพรัตน์ บริเวณหัวเรือ
ราชญาณนาวาฑีฆายุมงคล เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเอกนพรัตน์ ( ปางเสริมบารมี ) พระพุทธเอกนพรัตน์นี้
สร้างขึ้นในปีมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เป็นปีกาญจณาภิเษก
พระเทพโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม เจ้าคณะเขตดุสิต ( ธรรมยุต ) กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ ฯ ขึ้น
ได้คิดรวบรวมพระพุทธจริยาปางต่างๆ ประจำวันของเทพนพเคราะห์ทั้ง ๙ พระองค์ มีพระอาทิตย์เทพ จันทรเทพ เป็นต้นและคนทั้งหลายก็นำมาเป็นนิมิตหมาย
แห่งวันเกิดของตน และเทพแต่ละองค์ก็จะมีพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่เคารพนับถือบูชาประจำพระองค์ มนุษย์ทั้งหลายที่ได้ถือนิมิตรหมายแห่งเทพประจำวันเกิด
ก็จะต้องยอมรับนับถือพระพุทธรูปที่ประกอบด้วยพุทธจริยาปางต่างๆ มาประจำตัวด้วย จึงเป็นที่มา ของพระพุทธรูปประจำวันเกิดทั้ง ๗ วัน โดยเพิ่มวันพุธกลางคืน
คือพระราหูและพระเกตุเข้าอีก ๒ พระองค์ จึงรวมเป็น๙ องค์ เรียกว่า เทพนพเคราะห์สำหรับดูแลรักษามนุษย์ให้มีความสุขความเจริญ
พระพุทธเอกนพรัตน์
เป็นพระพุทธรูป ๓ องค์ ๓ สมัย ๔ อิริยาบถ ๑๐ ปาง ในฐานเดียวกันคือ ประทับยืนสมัยสุโขทัย ประทับนั่งสมัยเชียงแสน
และปางไสยาสน์สมัยอู่ทอง รวมพุทธจริยา ๑๐ ปาง ประทับยืน ๕ ปาง

๑. ปางประทับรอยพระพุทธบาท (พระกาญจนาภิเษกเป็นองค์ประธาน )
๒. ปางรำพึง ประจำวันศุกร์
๓. ปางห้ามญาติ ประจำวันจันทร์
๔. ปางถวายเนตร ประจำวันอาทิตย์
๕. ปางอุ้มบาตร ประจำวันพุธ ประทับนั่ง ๓ ปาง คือ
๖. ปางนาคปรก ประจำวันเสาร์ มีนาค ๙ เศียร
๗. ปางสมาธิ ประจำวันพฤหัสบดี
๘. ปางปาลิไลยก์ ประจำวันพุธกลางคืน ประทับบรรทม ( ไสยาสน์ ) ๒ ปาง คือ
๙. ปางไสยาสน์ ประจำวันอังคาร
๑๐. ปางพระเกศธาตุ ประจำพระเกตุ ( พระหัตถ์แตะพระเศียร ) ถอนเส้นพระเกศา
หลักการและเหตุผลในการสร้าง
๑. เพื่อแสดงถึงพระพุทธจริยาถวายเป็นพุทธบูชาของสาธุชน
๒. เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาให้เป็นมรดกไทย
๓. เพื่อเป็นราชสักการปูชะนียานุสรณ์ในการฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ ของรัชกาลที่ ๙
๔. เพื่อแสดงธรรมทัศนคติในการร่วมมือของผู้สะอาดบริสุทธิ์ให้สันติสุขแก่โลกและสังคมอย่างแท้จริง
ศาลเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
บริเวณหัวเรือราชญาณนาวาฑีฆายุมงคลเป็นที่ตั้งศาลที่ประทับของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ศาลนี้เป็นศาลลำดับที่ ๑๑๖ จากการรวบรวมของกองทัพ
สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในฐานะเป็นพระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เรือราชญาณนาวาฑีฆายุมงคล
ลานพระธรรมจักร
สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๗ ยาว ๓ เมตร บนลานประดิษฐานแท่นธรรมจักร เป็นหินทรายแกะสลักเป็นรูปกวาง และแท่นหิน ๘ เหลี่ยม
เป็นหินทรายแกะสลักรูปมงคลต่างๆ ตั้งไว้ด้านหน้าเป็นนิมิตรหมายว่า พระพุทธได้ประกาศพระธรรมคำสั่งสอนอันยอดเยี่ยมให้เป็นไปในโลกทั้ง ๓ อัน
ใครจะปฏิวัติปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะมีความสมบูรณ์บริบูรณ์ยุติธรรม ในการวางแนวทางไว้อย่างประเสริฐ แก่เหล่าเทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย
อุโบสถ
สร้างเป็นมณฑปเรือนแก้ว กว้าง ๑๒ เมตรยาว ๑๒ เมตร สูง ๑๓ เมตร มุงและกั้นด้วยกระจกสีชาทั้งหมด
เป็นศิลปประยุกต์ไทย อินเดีย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาททั้งคู่ เนื้อสำริดสามกษัตริย์ประกอบด้วยทองคำหนัก ๕๖ บาท เงิน ๓๘ บาท
นาค ๑๔ บาทรวม ๑๐๘ บาท ตามกำลังพระพุทธคุณ พระธรรมคุณและพระสังฆคุณ มีขนาดกว้าง ๖๖ ชม.ยาว ๑๖๕ ชม. ในลายพระพุทธบาทประกอบด้วย
มงคล ๑๐๘ ประดิษฐานบนฝาผนังในรูปใบโพธิ์นอกจากนั้นยังได้หล่อพระมหากัสสปเถรยืนถวายบังคมพระพุทธบาททั้งคู่ไว้ด้านขวามือด้วย เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์วันสำคัญ
ในวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน เรียกว่าวัน วิสาขอัฐมีบูชา
พระพุทธรัชมงคลอุบลบพิตร
พระประธานของ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ คือพระพุทธรัชมงคลอุบลบพิตร เป็นพระสมัยอู่ทอง ปางสมาธิ สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ได้ถวายพระนามพระประธานองค์นี้ไว้มีความหมายว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคลผู้สร้างแห่งความเป็นพระราชา
พระองค์นี้มีความกว้าง ๕๙ นิ้วสูง ๙๕ นิ้วด้านหลังมีกอบัวเป็นสัญลักษณ์ของธรรมวัฒนมงคล ทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี
ได้เสด็จมาถวายพระพุทธรัชมงคลอุบลบพิตรเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗
เจดีย์ศรีมหาราช
สร้างขึ้นเพื่อถวายในปีกาญจนาภิเษก พระราชญาณปรีชา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชผาติการามและคณะศิษยานุศิษย์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงค์
อดีตเจ้าอาวาสวัดราชผาติกามวรวิหาได้พร้อมใจกันสร้าง เพื่อถวายเป็นราชสักการะปูชนียานุสรณ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ เจดีย์ศรีมหาราชมีความสูง ๔๕ เมตร กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เจดีย์ศรีมหาราชมีลักษณะพิเศษ
ไม่เหมือนเจดีย์อื่นๆคือ เจดีย์โดยทั่วไป มักสร้างเป็นองค์ทึบตัน แต่ส่วนเจดีย์ศรีมหาราชภายในกลวงซึ่งภายในประดิษฐานพระกาญจณาภิเษก มีความสูง ๑๗๕ ชม.
และบริเวณส่วนยอดบนสุดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อสักการบูชา แต่เจดีย์ศรีมหาราชได้ประยุกต์ให้เห็นภายในองค์เจดีย์ยังจัดแบ่งออกเป็นห้องๆ ที่มีความสำคัญ
ทางประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทั้งสาม ให้เกิดขึ้น และยังปลูกจิตสำนึกในเรื่องของความรักชาติให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่ได้เข้ามาชมห้องประวัติศาสตร์ๆ
ในองค์เจดีย์ศรีมหาราช เจดีย์ศรีมหาราชแบ่งออกเป็นชั้นต่างๆดังนี้คือ ชั้นล่าง มีชื่อเรียกว่า วังนาคราช ใช้เป็นที่ปฎิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนระหว่าง
วันที่ ๒๑ –๒๓ ตุลาคม ของทุกปี
ชั้นที่๑ มีชื่อเรียกว่า ห้องมหาราช หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก จังหวัดพิจิตร ได้เคยเรียกห้องมหาราชว่าเหมือนปราสาทพระเทพบิดรของประชาชนชาวไทย
เพราะเป็นที่ประทับของรูปหล่อของพระมหาราชทั้ง ๘ พระองค์รวมตลอดถึง พระบรมรูปหล่อของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ในฐานะพระชนกนาถของพระปิยมหาราชและพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยด้วย พระบรมรูปของมหาราชทั้ง ๘ พระองค์คือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระปิยมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระมหาเจษฏาราชเจ้า
( รัชกาลที่ ๓ ได้สถาปนา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในห้องมหาราชยังได้ประดิษฐานพระพุทธเอกนพรัตน์
โดยได้รวมพระพุทธรูปประจำวันทั้ง ๙ วัน ๙ปาง เป็น ๓ องค์ ๓ สมัย ๔ อิริยาบถ ๑๐ ปาง ไว้บนฐานเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีพระสยามเทวาทิราช สูงประมาณ
๑๗๒ ชม.ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางมหาราชทั้งปวง ห้องมหาราชนี้ จึงเป็นสถานที่เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนไทยทั้งหลายได้มาสักการะ และน้อมรำลึก
ถึงพระมหาการุณาธิคุณของพระมหาราชทุกพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย
ชั้นที่ ๒ ห้องพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญไชย ( เมืองลำพูน ) ผู้มีความตั้งมั่นในบวรพระพุทธศาสนา
ภายในห้องจะมีภาพงานจิตรกรรมรูปพระพุทธเอกนพรัตน์และพระบรมรูปของพระนางจามเทวีซึ่งได้แกะจากไม้จามจุรี
ห้องพระนเรศวรมหาราช ( ห้องสามพี่น้อง ) ภายในห้องมีพระบรมรูปหล่อด้วยทองสำริดประทับยืนของสามพระองค์
สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และภาพสีน้ำมันพระสาทิสลักษณ์ของพระสุพรรรกัลยา
ชื่อว่า ภาพไกลบ้านด้วย ห้องสมเด็จพระสุริโยทัย วีรกษัตรีย์ ผู้กล้าหาญและยอมเสียสละได้แม้ชีวิต เพื่อรักษาบ้านเมือง ด้านหน้าห้องจะมีซุ้มเทิดพระเกียรติ
สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ( รัชกาลที่๖ ) และภาพสีน้ำมันพระสาทิสลักษณ์ขนาดใหญ่ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและราชวงค์ทุกพระองค์ อันได้แก่ ภาพที่มีชื่อว่า
ภาพพร้อมพักตร์ และรวมถึงภาพสีน้ำมันอันงดงามเป็นพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระสุริโยทัย พระมเหสีและพระราชธิดาผู้กล้าหาญคือพระบรมดิลกรวมทั้งสิ้น
จำนวนภาพ สามภาพ ชื่อภาพ แทบบาทบงก์ ราชกุมารีจอมสยาม และเพื่อมาตุภูมิ
พระพุทธรูปยืนปางอธิษฐานประทับรอยพระพุทธบาท ความสูง ๙ เมตรปิดทองแท้ทั้งองค์ ประทับยืนอยู่ในซุ้มด้านหน้าห้องที่เก็บรักษาพระไตรปิฏก
ภายในห้องสุริโยทัยมีพระบรมรูปหล่อด้วยเนื้อโลหะปิดทองของ สมเด็จพระสุริโยทัยในเครื่องทรงนักรบ ความสูงประมาณ ๑๖ นิ้ว ประทับยืนอยู่ในบุษบกทอง
อันงดงามและภายในห้องนี้ยังได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์บายศรีผ้า ซึ่งได้เคยใช้บูชาบวงสรวงในงานพิธีสำคัญของวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ มาแล้วทั้งสิ้นจุดเด่น
ของห้องสมเด็จพระสุริโยทัยเป็นเครื่องทรงนักรบประทับบนคอคชาธาร ชื่อภาพวีรกษัตรีย์ แรงอธิษฐาน และสุริโยทัย
พระพุทธกาญจนาภิเษก
พระพุทธรูปยืนปางอธิษฐานประทับรอยพระพุทธบาท ความสูง ๙ เมตรปิดทองแท้ทั้งองค์ ประทับยืนอยู่ในซุ้มด้านหน้าห้องที่เก็บรักษาพระไตรปิฏก
เป็นพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย ปางยืนอธิษฐานประทับรอย พระพุทธบาท มีพระพุทธลักษณะ พระเกศเป็นเปลวเพลิง เหนือพระเกศมีดอกบัวบานกลีบซ้อน ๓ ชั้น
รองรับเลข ๙ คือ นวโลกุตรธรรม อยู่ในกรอบของปรกมณฑล พระหัตถ์ทั้งสองปล่อยลงมาเหนือพระชานุ ริ้วชายจีวรปรกลงมาครึ่งพระชงฆ์ ปิดอันตรวาสก
พระพุทธบาทเบื้องซ้าย เหยียบทับซ้อนพระพุทธบาทเบื้องขวาเล็กน้อย ประทับยืนอยู่ในรอยพระพุทธบาท สี่ รอย ด้านหน้าผ้าทิพย์ปรากฏเป็นพระพุทธบาททั้งคู่เด่นชัด
มีเทพพนม ทั้งคู่อยู่ด้านขวา เหนือพระพุทธบาท ฐานรองพระพุทธบาท มีบัวบาน ๓ ชั้น รองรับด้านล่างมีเทพประจำ ๑๒ นักษัตร ด้านหน้าชั้นล่างใต้ฐานผ้าทิพย์
จะเป็น ตรา สัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี เลข ๙ หุ้มด้วยทองคำหนัก ๕๐ บาท นิมิตหมาย คือ ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีบัวบาน ๓ ชั้น
รองรับเลข ๙ หุ้มด้วยนาค ๑๓๔ บาท นิมิตหมายคือรวมสิริพระชนมายุทั้ง สองพระองค์ในปี พุทธศักราช ๒๕๓๙เปลวพระเกศและพระอุณาโลม หุ้มด้วยเงินบริสุทธิ์
๒๑๔ บาท นิมิตหมายคือ อายุกรุงรัตนโกสินทร์ รวม เงิน ,ทอง , นาค หุ้มพระเกศ ๓ กษัตริย์ได้ ๓๙๘ บาท ห้องสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โตพรหมฺรังสี )
ห้องนี้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ศึกษาและพิจารณาถึงปฏิปทาของท่าน
ห้องพระไตรปิฏก
เป็นห้องที่เก็บรักษาพระไตรปิฏก มีทั้งภาษาไทย , ภาษาบาลีและภาษาพม่าและมีรูปหล่อของเนื้อโลหะของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมฺรังสี ) นั่งแสดงธรรม
หลวงพ่อทวด , รูปหล่อสมเด็จพระมหาวีรวงค์ ( วิน ธมฺมสารเถร ) และหลวงปู่โง่น โสรโย ชั้นที่๓ คือชั้นบนสุด มีเจดีย์ความสูง ๑๒ เมตร เป็นที่ประดิษฐาน
พระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธกาญจนาภิเษก พระพุทธรูปต่างๆ เจดีย์องค์นี้จะเป็นศูนย์รวมเอกลักษณ์ของชาติไว้ในที่แห่งเดียวกัน เพื่อความเป็นเอกภาพ
แห่งเมตตาจิตของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นกำลังสืบสานกรุงรัตนโกสินทร์ให้มั่นคงถาวรยืนยาวตลอดไป
วิหารพระนาคปรก ( วิหาร สธ )
สร้างขึ้นในโอกาสที่สมเด็จพระมหาวีรวงค์ ( วิน ธมฺมสารเถร ) เจริญชนมายุครบ ๘๔ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยสร้างวิหารพระนาคปรกขึ้นประดิษฐานพระประจำวัน
ทั้ง ๗ วัน รวม ๙ ปาง ๙ องคื เรียกว่า นวคหเทวดา หมายถึง เทวดาที่รักษาพระพุทธรูป ๙ องค์ โดยมีพระพุทธรูปปางนาคปรก หน้าตักกว้าง ๓๖ นิ้ว สูง ๒ เมตร
เป็นประธาน และสมเด็จพระมหาวีรวงค์ ได้ขอพระราชทานฉัตรขาว ๗ ชั้น จากสมเด็จพระเทพรัตนสุดา สยามบรมราชกุมารี ถวายพระนาคปรก และพระประจำวัน
เป็นพุทธบูชาในวิหารพระนาคปรกด้วย และขอพระราชทานพระนามาภิไธยย่อ สธ ประดิษฐานไว้ที่หน้าบันวิหารพระนาคปรก ในโอกาสที่เฉลิมพระชนมพรรษาครบ
๓ รอบ ๓๖ พรรษา
วิหารเทพสถิต ( วิหาร สว. )
วิหารเทพสถิต ( สว. ) สร้างขึ้นในปี พุทธศกราช ๒๕๔๕ โดนพระเทพโมลีและคณะศิษย์ได้หล่อเทพนพเคราะห์ เนื้อโลหะพ่นสีงดงามทั้ง ๙ องค์ขึ้น ได้แก่
พระอาทิตยเทพ , พระจันทรเทพ , พระอังคารเทพ , พระพุธเทพ , พระพฤหัสบดีเทพ , พระศุกรเทพ ,พระเสาร์เทพ , พระราหูเทพ และพระเกตุเทพเพื่อประกาศ
เกียรติคุณของปวงเหล่าเทพนพเคราะห์ที่มาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมวลมนุษย์ ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม และประทับอยู่ในวิหารแห่งนี้ เคียงคู่กับวิหารนาคปรก ( สธ. )
และได้ขอพระราชทานพระนามาภิไธย ( สว ) ฉลอง ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประดิษฐานไว้ที่หน้าบันของวิหารเทพสถิตเพื่อเฉลิมพระเกียรติด้วย
ห้องแม่ธาตุ
อยู่ด้านหลังของวิหารเทพสถิต ( สว ) เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์จุฬามณี พระศรีอริยเมตไตรย และรูปหล่อเนื้อโลหะพ่นสีแม่ธาตุที่ ๕ องค์ คือ
แม่พระธรณี , แม่พระคงคา , แม่พระโพสพ , แม่พระเพลิง , แม่พระพาย ทั้ง ๕ มีลักษณะพิเศษ คือ บนมวยผมมีพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ประทับอยู่ได้แก่
พระกกุสันโธ ประจำแม่พระธรณี ( ธาตุดิน )
พระโกนาคมน์ ประจำแม่พระคงคา ( ธาตุน้ำ )
พระกัสสปะ ประจำแม่พระพาย ( ธาตุลม )
พระโคตม ประจำแม่พระเพลิง ( ธาตุไฟ )
พระอริยเมตไตรย ประจำแม่พระโพสพ ( ธาตุทอง )
รวมเป็น นะ , โม , พุท , ธา , ยะ พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์และธาตุ ๔ คือ นะ , มะ , พะ , ธะ เป็นที่มาของพระบาท ๔ รอย คือ พระพุทธเจ้าล่วงมาแล้ว ๔ องค์
พระเทพโมลี และคณะศิษย์สร้างขึ้นเพื่อ ให้มนุษย์ได้แสดงความกตัญญูกตเวทีและรู้คุณค่าของแม่ธาตุ ซึ่งเป็นพลังแห่งธรรมชาติทั้ง ๕ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์
แก่ชีวิตประจำวัน ห้องกุหลาบ ( ห้องรัชกาลที่ ๕ ) ห้องนี้อยู่ด้านหลังของวิหารพระนาคปรก ( สธ ) เป็นห้องแสดงพระสาทิสลักษณ์ขนาดใหญ่
ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช และรวมถึงพระบรมรูปหล่อขนาดครึ่งพระองค์ด้วยบริเวณผนัง
ห้องกุหลาบจะมีโคลงบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ อันย้ำเตือนปลุกใจให้ประชาชนรู้จักรักชาติบ้านเมือง
และยังได้นำโบกี้รถไฟมาปรับปรุงไว้เทิดพระเกียรติอีกด้วย
พระภควัมบดี ( พระอยู่เย็นเป็นสุข พระไม่มีหน้า )
เป็นพระพุทธรูปที่มีรูปลักษณะเหมือนพระสังกัจจายน์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ปางขัดสมาธิเพชร บนกลีบบัว ๓ ชั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พระองค์นี้
มีลักษณ์เหมือนกันทั้งสองด้าน หมายถึงไม่มีหน้า ไม่มีหลัง และไม่มีตา ปริศนาธรรมแก่พุทธศาสนิกชนในเรื่องของการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน
คือการทำความดีไม่เอาหน้าในสังคม พระองค์นี้ประดิษฐานอยู่กลางเขาโพธิสัตว์ หน้าตักกว้าง ๕ เมตร สูง ๑๐ เมตร ประกอบด้วยรัศมีประภามณฑล
และฉัตรทองอีก ๙ ชั้น สูงราว ๑๔ เมตร เพื่อเป็นปูชนียสักการะ ปกป้องคุ้มครอง ป้องกันสนับสนุน ส่งเสริม สถาบัน และเอกลักษณ์ของชาติให้มั่นคงถาวร
อาศรมท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ สร้างไว้เป็นที่ประดิษฐานแพทย์ประจำพระองค์ เป็นพระอริยบุคคลพระโสดาบัน
แท่นธรรมจักรซ้ายและขาวภายในวงกลมสีขาว
คือสัญลักษณ์ของพระธรรม ที่ได้อุบัติขึ้นในโลกที่มีเพลิงทุกข์คือกิเลสรุมเร้าอยู่เนืองนิตย์ อริยมรรค มีองค์ ๘ ประการ
สามารถช่วยให้ผู้ที่ปฏิบัติตาม สามารถที่จะข้ามพ้นจากความทุกข์ได้ ยังโลกให้สว่างไสวเป็นโลกสีขาว เป็นที่เกิดของสังฆรัตนครบรัตนตรัย คือ
พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
ซุ้มเทพเจ้ากวนอู
เป็นที่ประทับของเทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตว์ อันเป็นสัญลักษณ์ของคนดีแกะจากไม้และเทพเจ้า ซินไฉ่เอี้ย ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ
เมื่อเราเดินตามบันไดพญานาคประมาณ ๑๘๓ ขั้น ก็จะพบวิหารน้อยมีพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิหันหลังให้กันพ่นสีทองเหลืองอร่าม คือ พระอุปคุต หรือ พระบัวเข็ม
พระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มากในการปราบพญามารวสวตีมาร เมื่อเราเดินมาอีกก็จะพบเสาหินขนาดใหญ่บนยอดสุดเป็นสิงห์ที่ฐานทั้ง ๔ ด้านจะเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติ
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเสาอโศกที่พระอโศกมหาราชสร้างไว้เพื่อที่จะประกาศพระพุทธศาสนาให้ปรากฏมั่นคงในโลกเดินต่อมาก็จะพบประตู โทรณะ ประตูแห่งความหลุดพ้น
และก็เป็นลานกว้างของเจดีย์เราจะเห็นบริเวณตรงกลางจะเป็น ลานหยินหยางก็จะถึงเจดีย์ศรีพุทธคยา
เจดีย์ศรีพุทธคยา
เจดีย์ศรีพุทธคยา สร้างขึ้นเพื่อรองรับวันวิสาขโลก ซึ่งเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ องค์การสหประชาชาติยกย่องให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญ
ของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรม และขันติธรรม
ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ จึงเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาให้เป็นที่ทราบกันทั่วโลก
และถือว่าวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติที่สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึงด้วย และเพื่อสืบสาน
อายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนไปตราบเท่าครบถ้วน ๕,๐๐๐ ปีและเป็นเจดีย์ เฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เจดีย์ศรีพุทธคยา มีความกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๘ เมตรบนพื้นที่ ประมาณ ๓๐ เมตร
พื้นชั้นล่างกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๓๓ เมตร แบ่งเป็นชั้นต่างๆ ดังนี้ ชั้นล่าง เป็นสถานที่ใช้ปฏิบัติธรรม มีสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพ่อดำ ขนาดหน้าตัก นิ้ว ปางมารวิชัย
พระเกศทรงดอกบัว แกะสลักจากหินพิเศษ สีดำ ซึ่งขุดพบภายในวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระaงค์ฯ เป็นพระประธานในห้องปฏิบัติธรรม
ชั้นที่ ๑ เป็นห้องพระพุทธเมตตาสันติภาพ เนื้อสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง๔๙ นิ้ว สูง ๔.๑๙ เมตร
        สร้างถวายเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐
ชั้นที่ ๒ เป็นห้องที่ประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรย ศรีศากยสิงห์ ขนาด หน้าตัก ๑๐๙ นิ้ว สูง ๔ เมตร
        ซึ่งสร้างถวายเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในโอกาสฌฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ๖๐ พรรษา
ชั้นที่ ๓ สร้างเป็นวิหารทรงพรตเป็นที่ปฏิบัติผู้ใดที่จะขึ้นไปชั้นที่ ๓ ต้องตั้งสัจจะรักษาศีลให้ได้ ๑ ข้อตลอดชีวิต
ส่วนในองค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ในวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นวันประสูติของสมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ
๗ รอบ ๘๔ พรรษา วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ ได้รับพระเมตตาให้จัดโครงการบรรชาอุปสมบทหมู่ ๘๕ รูป สามเณร ๑๑ รูป รวม
๙๖ รูป เฉลิมพระเกียรติรวม ๑๕ วันและในวันที่ ๖ –๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ได้รับอาราธนาพระสงฆ์ สามเณรเปรียญ รวม ๘๕ รูป จากวัดต่างๆ รวมทั้ง ๒ นิกาย
มาสาธยายพระไตรปิฏกฉบับภาษาไทย ๔๕ เล่มทั้งพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม รวม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พร้อมด้วยเจริญพระพุทธมนต์
มหาสันติงหลวงเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ด้วย
โดยคณะกรรมการ ซึ่งมีนางสุมนา อภินรเศรษฐ์ ประธานโครงการการบรรพชาอุปสมบท เฉลิมพระเกียรติและนางสาวราชตี สิงหศิวานนท์ รองประธานกรรมการ
ได้ดำเนินงานสำเร็จเรียบร้อยลุล่วงไปด้วยดี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นองค์ประธานงานก่อสร้าง
เจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
และทรงพระเมตตาพระราชทานตราโครงการบรรพชา อุปสมบทหมู่ ๘๕ พรรษา ให้เป็นตราประจำวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ด้วยและเป็นองค์ประธานทอดผ้าป่าพระราชทาน
ในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ พร้อมกับพระราชทานให้ทอดกฐินในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ กับทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้ตั้งศูนย์เด็กเล็กในบริเวณ
หน้าวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ มีชื่อว่า ศูนย์เด็กเล็กราชนครินทร์ และพระราชทานคำว่า ราชนครินทร์ ไว้ใช้ในกิจกรรมที่สมควรกับอาคาร อื่นๆ
ในวัดอีกต่อไป นับเป็นพระมหาการุณาอย่างหาที่สุดมิได้
ความมุ่งหมายของสิ่งก่อสร้าง
อันเป็นสถาปัตยกรรมต่างๆ แฝงไว้ด้วยปริศนาธรรม และธรรมคติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นอุทยานการศึกษาของเยาวชนและสาธุชน เพื่อปลูกจิตสำนึก
ให้เห็นคุณค่าแห่งเอกลักษณ์ของชาติว่าเหนือสิ่งอื่นใด หัดทำใจในความเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ นำสันติภาพ สันติสุข และสันติธรรม เป็นแนวปฏิบัติดำเนินไป
ด้วยความเข้าใจ เข้าถึง และนำมาพัฒนา ด้วยความ รู้ - รัก – สามัคคี คือคนดีของสังคม สิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้น ยึดหลักแนวคิด ๔ ประการ คือ
ปถมนสิการ คิดไปในแนวทางที่ถูกต้อง อุบายมนสิการ เลือกวิธีการที่ดีที่สุด การณมนสิการ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล และอุปาทนสิการ ประมวลวิธีทั้ง ๓ ประการ
นั้นด้วยสติและปัญญาให้เข้ากับกาลสมัย สนับสนุนส่งเสริม เชิดชูเอกลักษณ์ของชาติ ให้เกิดคุณค่าของผู้ที่ได้เข้ามาเยี่ยมเยียนชม ให้ได้พลัง แห่งความรู้ ความรัก
ความสามัคคี ด้วยจิตและวิญญาณที่สะอาดและบริสุทธิ์กลับไปอย่างมีความสุข ด้วยหัดทำใจ หยุดได้ สงบได้ นิ่งได้ ปล่อยวางได้นั้น คือสันติภาพอย่างแท้จริง